221 คนดู · 21 Feb 2024
#ประเทศไทย#นครราชสีมา#โนนสูง#แหล่งท่องเที่ยว แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทตั้งอยู่หมู่ที่ 7 บ้านปราสาทใต้ ตำบลธารปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 2 นครราชสีมา-ขอนแก่น ถึงกิโลเมตรที่ 44 มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯหรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่ กม.44 แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน
บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง 1,500-3,000 ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด 3 แห่ง คือ
หลุมขุดค้นที่ 1
มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค 3,000 ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก 5.5 เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค 2,500 ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค 2,000 ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค 1,500ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง
หลุมขุดค้นที่ 2
ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ 13-16 เรียกกันว่า "กู่ธารปราสาท" และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
หลุมขุดค้นที่ 3
พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ 5.5 เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง 500 เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ 21 เมษายน ของทุกปี
ลักษณะทั่วไป
1. เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ และมีอายุที่เก่าแก่ที่สุดของเขตภาคอีสานตอนล่าง มีการจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ประกอบด้วยหลุมขุดค้นจำนวน 3 หลุม โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 59 โครง รวมทั้งโบราณ วัตถุอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
2. เป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในอดีต ของดินแดนภาคอีสานตอนล่าง
3. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น
หลักฐานที่พบ
1. โครงกระดูกมนุษย์อยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ 1.50 – 5 เมตร แสดงถึงการอยู่อาศัยทับซ้อนกันยาวนาน
2. ภาชนะดินเผา หม้อปากแตร และหม้อแบบพิมายดำ
3. เครื่องประดับและเครื่องมือสำริด · เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ไปตามถนนมิตรภาพ นครราชสีมา-ขอนแก่น แยกเข้าซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 25